หากพูดถึงศาสนาพุทธแล้ว หลายๆคนอาจคิดว่าสอนให้ละ ให้เลิกอย่างเดียว โดยมุ่งตรงต่อนิพพานอย่างเดียว สละเรื่องทางโลกออกทุกๆอย่าง จริงอยู่สำหรับพระภิกษุ หรือ นักบวช หรือ ฆราวาสที่ปรารถนา มรรค-ผล นิพพานจะต้องปฏิบัติเช่นนั้น แต่สำหรับผู้ที่เป็นฆราวาส หรือ คฤหัสถ์ที่ยังต้องใช้ชีวิตทางโลกอยู่ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถึงความสุขของฆราวาสที่พึงมีได้ในขณะใช้ชีวิตแบบโลกๆ เช่นกัน ดังนี้
ดูก่อนคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้ อันคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามพึงได้รับตาม กาลตามสมัย สุข ๔ ประการเป็นไฉน คือ
สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ ๑
สุขเกิด แต่การจ่ายทรัพย์บริโภค ๑
สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้ ๑
สุขเกิดแต่ประกอบ การงานที่ปราศจากโทษ ๑
ดูก่อนคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์เป็นไฉน โภคทรัพย์ของกุลบุตรในโลกนี้ เป็นของที่เขาหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรมของ เรามีอยู่ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์
ดูก่อนคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่การจ่าย ทรัพย์บริโภคเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำ บุญทั้งหลาย ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วย กำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม เขาย่อมได้รับ ความสุขโสมนัสว่า เราย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำบุญทั้งหลายด้วย โภคทรัพย์ ฯลฯ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค
ดูก่อนคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้เป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมไม่เป็นหนี้อะไรๆ ของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราไม่เป็น หนี้อะไรๆ ของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความไม่ เป็นหนี้
ดูก่อนคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อัน หาโทษมิได้ เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจาก โทษ
ดูก่อนคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้แล อันคฤหบดีผู้บริโภคกามพึงได้รับตาม กาลตามสมัย ฯ
สรุป ก็คือ ฆราวาสก็ควรทำงานทางโลกอย่างขยัน สุจริต เงินที่ได้นำมาใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ทั้งซื้อของ ใช้จ่าย ทั้งทำบุญ และที่สำคัญไม่ควรมีหนี้ เพียงเท่านี้ก็มีความสุขตามหลักพุทธศาสนาแล้วครับ.....เจริญธรรม