กาลามสูตร หรือ เกสปุตตสูตร เป็นพระสูตรที่ค่อนข้างดังมากในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือ ผู้ใหญ่ ก็คงต้องเคยได้ยินได้เรียนกันมาบ้าง เนื้อหาของพระสูตรที่เกี่ยวกับ "อย่าเชื่อ 10 ประการ" ที่คนไทยรู้จักกัน 10 ประการ ตามนี้:
- อย่าเชื่อ ตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา
- อย่าเชื่อ ตามถ้อยคำสืบๆ กันมา
- อย่าเชื่อ โดยตื่นข่าวว่า ได้ยินอย่างนี้
- อย่าเชื่อ โดยอ้างตำรา
- อย่าเชื่อ โดยเดาเอาเอง
- อย่าเชื่อ โดยคาดคะเน
- อย่าเชื่อ โดยความตรึกตามอาการ
- อย่าเชื่อ โดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว
- อย่าเชื่อ โดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
- อย่าเชื่อ โดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
โดยทั่วๆไปนั้น มักจะกล่าวเนื้อหากันมาเพียงเท่านี้ คือ อย่าเชื่อ 10 อย่าง แล้วก็จบ สรุปจาก 10 ข้อ ก็เรียกว่าไม่ต้องเชื่ออะไรเลย แม้แต่ข้อสุดท้าย คือ สมณะนี้เป็นครูของเรา หรือ หากใครถือศาสนาพุทธ ก็คือ พระพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมครูก็ยังไม่ควรเชื่อ แล้วทีนี้เราควรเชื่ออะไรดีล่ะ ในส่วนนี้แหละครับที่เป็นเนื้อหาที่ขาดหายไป
บางคนอาจคิดว่าทุกอย่างต้องพิสูจน์ทั้งหมด ต้องพิสูจน์ได้ในเชิงวิทยาศาสตร์จึงจะเชื่อถือได้ อันนี้ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะทุกวันนี้ยังมีหลากหลายเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ครับ ดังนั้นเราลองมาดูเนื้อหาที่หายไปกันครับ ว่าเนื้อหาที่หายไปจากกาลามสูตรนั้นคืออะไร? และเราควรมีหลักความเชื่ออย่างไร?
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเนื้อหาในช่วงหลังของ เกสปุตตสูตร (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต) ไว้ดังนี้:
เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรม เหล่านั้นเสีย....
เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรม เหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้ บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่าน ทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เรา จึงได้กล่าวไว้ดังนี้
โดยสรุปก็คือ เราต้องนำคำสอนนั้นๆมาพิจารณากันต่อ ด้วยหลัก 4 ข้อ คือ 1.เป็นอกุศลหรือกุศล 2.มีโทษหรือไม่มีโทษ 3. ผู้รู้ติเตียนหรือสรรเสริญ 4. เมื่อปฏิบัติตามนั้นโดยไม่บกพร่องแล้ว ไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นประโยชน์
หากเป็นอกุศล เป็นโทษ ฯลฯ ก็ควรละเสียครับ
หากเป็นกุศล ไม่มีโทษ ฯลฯ ก็ควรจะน้อมนำมาใส่ใจกันนะครับ.... เจริญธรรม