การเลือกหญิงสาวมาเป็นคู่ชีวิต มาเป็นภรรยานั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ หากได้ภรรยาดี คอยปรนนิบัติสามี ร่วมทุกข์ร่วมสุข และให้กำลังใจแม้ในยามลำบาก สามีคนนั้นก็โชคดีไป แต่ถ้าหากได้ภรรยาไม่ดี ดูถูกสามี มักพูดจาส่อเสียด เกียจคร้านกานงาน สามีคนนั้นก็คงจะโชคร้าย
ในทางพุทธนั้น พระพุทธเจ้าได้แบ่งภรรยาไว้อย่างละเอียดถึง 7 ประเภทครับ ลองมาดูกันว่ามีประเภทไหนบ้าง และมีคุณสมบัติอย่างไร:
๑. ภริยาผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นสามี เป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์ พยายามจะฆ่าผัว ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า วธกาภริยา (ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต)
๒. สามีของหญิงประกอบด้วย ศิลปกรรม พาณิชยกรรม และกสิกรรม ได้ทรัพย์ใดมา ภริยา ปรารถนาจะยักยอกทรัพย์ แม้มีอยู่น้อยนั้นเสีย ภริยาของ บุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า โจรภริยา (ภริยาเสมอด้วยโจร)
๓. ภริยา ที่ไม่สนใจการงาน เกียจคร้าน กินมาก ปากร้าย ปากกล้า ร้ายกาจ กล่าวคำหยาบ ข่มขี่ผัวผู้ขยันขันแข็ง ภริยาของ บุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า อัยยาภริยา (ภริยาเสมอด้วยนาย)
๔. ภริยาใดอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษา สามีเหมือนมารดารักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า มาตาภริยา (ภริยาเสมอด้วย มารดา)
๕. ภริยาที่เป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว มีความเคารพใน สามีของตน เป็นคนละอายบาป เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยา ของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ภคินีภริยา (ภริยาเสมอด้วยพี่สาว น้องสาว)
๖. ภริยาใดในโลกนี้เห็นสามีแล้วชื่นชมยินดี เหมือน เพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา เป็นหญิงมีตระกูล มีศีล มีวัตรปฏิบัติสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า สขีภริยา (ภริยาเสมอด้วยเพื่อน)
๗. ภริยาใดสามีเฆี่ยนตี ขู่ตะคอก ก็ไม่โกรธ ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ เป็นไป ตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ทาสีภริยา (ภริยาเสมอด้วยทาสี)
ในตอนท้ายของพุทธพจน์จากพระสูตรที่ยกมานั้น พระพุทธเจ้าทรงได้สรุปไว้ว่า ภรรยาประเภทที่ ๑-๓ นั้น ตายไปจะไปทุคติครับ นั่นคือ นรก สัตว์เดรัจฉาน หรือเปรต หรือ อสูรกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง .....ส่วนประเภทที่เหลือนั้นไป สุคติ คือ ไปสวรรค์ หรือโลกมนุษย์
ใครได้ภรรยาแบบไหน หรือ ใครเป็นภรรยาแบบไหน ก็ลองศึกษาอ่านกันดูครับ หากเป็นภรรยาประเภทที่แย่ๆก็ควรปรับปรุงตัว หรือ คนเป็นสามีก็ควรเตือนๆกันไว้ครับ เพราะที่หมายที่จะไปนั้น ไม่ใช่ที่ดีเลยนะครับ เจริญธรรม
ภาพจากเพจเฟซบุค พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
ที่มา: ภริยาสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต